เกี่ยวกับเรา
ความเป็นมาของเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด
“เป็นองค์กรสมรรถนะสูงด้านการบริหารจัดการเพื่อสร้างความมั่นคงด้านวัตถุเสพติดของประเทศและความพึงพอใจของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย” เป็นวิสัยทัศน์ของหน่วยงานเล็กๆ หน่วยหนึ่งในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาที่ชื่อว่า “กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด” รับผิดชอบในการจัดหาและจำหน่ายวัตถุออกฤทธิ์ในประเภท 2 และยาเสพติดให้โทษในประเภท 2 และประเภท 4 ให้กับสถานพยาบาล สถาบันทางวิทยาศาสตร์ สถาบันการศึกษา และสถานประกอบการภาคอุตสาหกรรมที่เกี่ยวกับการผลิตยาในราชอาณาจักรให้มีใช้อย่างเพียงพอ เหมาะสมและอยู่ในระบบที่ถูกต้องตามกฎหมาย
ในปี พ.ศ. 2517 มีการออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด พ.ศ. 2517 กำหนดให้มีหน่วยเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดมีสถานะเป็นหน่วยงานในกำกับสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา และอยู่ภายใต้การกำกับดูแลของกองควบคุมวัตถุเสพติด โดยการบริหารจัดการอื่นๆ อนุโลมให้ใช้ตามพระราชบัญญัติข้าราชการพลเรือน
จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2553 กระทรวงสาธารณสุขได้ออกระเบียบกระทรวงสาธารณสุข ว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2553 ให้สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาเป็นผู้ควบคุมรับผิดชอบการดำเนินงานของเงินทุนหมุนเวียนนี้ และให้เลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาแต่งตั้งเจ้าหน้าที่เพื่อทำหน้าที่ด้านบริหารเงินทุนได้ตามความเหมาะสม และได้จัดตั้งกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดขึ้นเป็นหน่วยงานภายในและมีฐานะเทียบเท่ากลุ่มงานภายใต้การกำกับดูแล ของเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา
ปี พ.ศ. 2558 มีกฎหมายที่กำกับเงินทุนหมุนเวียนเป็นการเฉพาะ คือ พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 โดยมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 24 พฤศจิกายน 2558 เป็นต้นไป กำหนดให้แต่ละทุนหมุนเวียนมีคณะกรรมการบริหารทุนหมุนเวียน สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาจึงมีคำสั่งจัดตั้ง “คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด” (Narcotics Revolving Fund Board) เพื่อเป็นผู้กำกับ ติดตามนโยบายและยุทธศาสตร์การบริหารจัดการวัตถุเสพติด 6 ด้าน ได้แก่ ด้านการเงิน ด้านการสนองประโยชน์ต่อผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ด้านการปฏิบัติการ ด้านการบริหารพัฒนาทุนหมุนเวียน ด้านการปฏิบัติงานของคณะกรรมการบริหาร ผู้บริหารทุนหมุนเวียน พนักงานและลูกจ้าง และด้านการดำเนินงานตามนโยบายรัฐ/กระทรวงการคลัง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2563 สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาได้มีคำสั่งให้กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดเป็นหน่วยงานในกำกับกองควบคุมวัตถุเสพติด สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา โดยมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาในฐานะหัวหน้าส่วนราชการ เป็นประธานคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดโดยตำแหน่ง มีการบริหารจัดการในรูปเงินทุนหมุนเวียนภายใต้พระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดได้รับการประเมินผลการดำเนินงานจากกรมบัญชีกลางตามบันทึกข้อตกลงการประเมินผลการดำเนินงานระหว่างเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดกับกระทรวงการคลัง ภายใต้ภารกิจหลักที่สำคัญของกลุ่มเงินทุนฯ มีทั้งสิ้น 10 ข้อ คือ
1. จัดทำข้อเสนอเชิงนโยบายและกำหนดยุทธศาสตร์การบริหารจัดการวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม ให้สอดคล้องกับนโยบายด้านยาเสพติดของประเทศ
2. บริหารจัดการภารกิจภายใต้คณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558 รวมทั้งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรี ว่าด้วยการขอจัดตั้งการดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557 และระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด พ.ศ. 2517
3. จัดหา คัดเลือกและนำเข้าวัตถุดิบวัตถุเสพติด และวัตถุเสพติดสำเร็จรูปที่ใช้ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรมตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
4. บริหารคลัง และดำเนินการสำรองวัตถุเสพติดสำหรับใช้ในยามปกติ และภาวะฉุกเฉิน เพื่อความมั่นคงของประเทศ
5. จำหน่ายวัตถุดิบวัตถุเสพติด และวัตถุเสพติดสำเร็จรูปที่ใช้ในทางการแพทย์ วิทยาศาสตร์ และอุตสาหกรรม แก่สถานพยาบาล และผู้ประกอบการที่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายที่เกี่ยวข้อง
6. พัฒนาระบบการจัดส่งวัตถุเสพติดให้มีประสิทธิภาพ รวดเร็ว ปลอดภัย
7. ควบคุม ตรวจสอบ และกำกับดูแลการใช้และการกระจายวัตถุเสพติดให้เป็นไปตามกฎหมาย
8. เป็นศูนย์ข้อมูลด้านวัตถุเสพติดที่จำหน่าย โดยให้บริการข้อมูลข่าวสารวัตถุเสพติดแก่ประชาชน สถานพยาบาลผู้ประกอบการ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง รวมถึงการสนับสนุนวิจัยและพัฒนาสูตรรูปแบบผลิตภัณฑ์ขึ้นใช้เองในประเทศ
9. ดำเนินการเกี่ยวกับการเงิน การคลัง การบัญชี การบริหารบุคคล การพัสดุ อาคารสถานที่ ยานพาหนะ และระบบสารสนเทศของกลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด
10. ปฏิบัติงานร่วมกันหรือสนับสนุนการปฏิบัติของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด บริหารจัดการวัตถุเสพติดเพื่อสนับสนุนให้กับภาคส่วนต่างๆ ให้ความสำคัญ 5 ประเด็นที่สำคัญ ซึ่งเป็นไปตามทิศทางที่สำนักคณะกรรมการอาหารและยากำหนด “เข็มมุ่ง อย. 6S” :Speed Safety Satisfaction Supporter Sustainability Security ดังนี้
1. การคัดเลือกผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและความปลอดภัยให้กับผู้ป่วย (Safety) โดยผ่านการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิและเชี่ยวชาญสาขาต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก อีกทั้งขณะนี้ได้ร่วมกับกองควบคุมวัตถุเสพติดผลักดันให้เกิดระบบการขึ้นทะเบียนผลิตภัณฑ์วัตถุเสพติดที่จะนำมาจำหน่าย
2. วิธีการจัดซื้อจัดจ้าง โดยใช้ระบบการประกวดราคาเพื่อเปิดโอกาสให้ยาสามัญ (Generic drug) ที่มีคุณภาพเท่าเทียมกับยาต้นแบบ (Original drug) สามารถเข้ามาแข่งขันทางด้านราคาอย่างเป็นธรรม และโปร่งใส ส่งผลให้ลดค่าใช้จ่ายด้านยาของประเทศได้ปีละหลายล้านบาทและยาหลายรายการมีราคาลดลงผู้ป่วยเข้าถึงยาได้มากขึ้น
3. การนำเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้พัฒนาระบบการให้บริการควบคู่ไปกับการปรับเปลี่ยนกระบวนงาน และวิธีการทำงานภายในองค์กร เพื่อลดขั้นตอน และระยะเวลา (Speed) ให้สามารถตอบสนองความต้องการและสร้างความพึงพอใจของลูกค้า (Satisfaction) ควบคู่ไปกับระบบที่มีความปลอดภัยสูง (Security) สามารถควบคุมสำหรับการใช้ทางการแพทย์อย่างแท้จริงและเหมาะสม
4. การบริหารจัดการความเสี่ยงเพื่อความมั่นคงของประเทศในอนาคต เช่น การเตรียมยาสำรองสำหรับชีวิตกรณีเกิดภาวะฉุกเฉิน (สงคราม ภัยพิบัติต่างๆ หรือโรคอุบัติใหม่) ในปริมาณที่เพียงพอและเหมาะสม การส่งเสริมผลักดันการวิจัยและพัฒนาสูตรยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ที่ใช้ในทางการแพทย์ (Supporter) กรณีวัตถุเสพติดที่หมดสิทธิบัตร เพื่อการผลิตขึ้นใช้เองภายในประเทศ ฯลฯ
5. การพัฒนาบริหารบุคลากรให้มีศักยภาพ ทักษะ ความรู้ ความสามารถ (Smart worker) ในการทำงานมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาตนเอง ตลอดจนมีทัศนคติที่ดีต่อองค์กร รวมถึงมีวิสัยทัศน์ในการทำงาน จะช่วยส่งเสริมให้องค์กรพัฒนาได้ก้าวไกลและมั่งคง (Sustainability)
จะเห็นได้ว่าในระยะแรกๆ การนำเข้าวัตถุเสพติดที่ใช้ในทางการแพทย์จะมีจำนวนรายการเฉพาะที่มีความจำเป็นและปริมาณการใช้ไม่มาก แต่ในปัจจุบันจำนวนรายการยาเสพติดให้โทษและวัตถุออกฤทธิ์ได้เพิ่มขึ้นอย่างมาก ทั้งชนิด ขนาดความแรง และรูปแบบทางเภสัชภัณฑ์ใหม่ๆ มากมาย รวมถึงกฎหมาย และระเบียบต่างๆ ที่เข้มงวดมากขึ้นทั้งในระดับประเทศและนานาชาติ ทำให้กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดต้องพัฒนาศักยภาพบุคลากรปรับปรุงระบบการบริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพอยู่ตลอดเวลาภายใต้ข้อจำกัดของระบบราชการเพื่อให้สามารถตอบสนองต่อความเปลี่ยนแปลงและความคาดหวังในบริการของลูกค้าอีกด้วย
แม้ว่า กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด จะเป็นองค์กรที่มีการดำเนินกิจการเชิงธุรกิจก็จริง แต่มิได้มุ่งเน้นในเรื่องรายได้หรือผลกำไรเป็นหลัก แต่จะเน้นในเรื่องของการกระจายวัตถุเสพติดในระบบที่มีการใช้อย่างเหมาะสม เพียงพอและเป็นธรรมภายใต้ระบบการป้องกันและมิให้รั่วไหลออกนอกการควบคุมและก่อให้เกิดการกระจายภายในประเทศ อาทิเช่น มาตรการจำกัดเพดานการขายต่อเดือนและโควตาการขายประจำปีสำหรับกลุ่มยาที่มีความเสี่ยง มาตรการควบคุมในระบบรายงานการใช้มาตรการควบคุมความเสี่ยงสำหรับการใช้ในทางที่ผิด เป็นต้น นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญในเรื่องความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) ขององค์กร ที่จะต้องตอบแทนสังคม โดยได้จัดกิจกรรมเพื่อพัฒนาชุมชนที่ด้อยโอกาสและมีปัญหาเกี่ยวกับยาเสพติด
จากความมุ่งมั่น ร่วมแรง ร่วมใจกันของเจ้าหน้าที่เงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดที่ผ่านมาทำให้กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดได้รับรางวัลจากการประกวดการพัฒนาด้านบริการประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2557 จำนวน 2 รางวัล ได้แก่ รางวัลชนะเลิศการประกวดการพัฒนาการให้บริการระดับหน่วยงานในสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม พ.ศ. 2557และรับรางวัลบริการภาครัฐแห่งชาติด้านการพัฒนาการบริการที่เป็นเลิศ ระดับดี ผลงานชื่อ "การพัฒนาระบบการจัดส่งยาผ่านระบบไปรษณีย์โลจิสติกส์" จากสำนักงาน กพร. เมื่อวันที่ 3 ตุลาคม พ.ศ. 2557 พิจารณาจากส่วนราชการทั่วประเทศที่ได้พัฒนางานบริการและการบริหารจัดการองค์การเพื่อตอบสนองความต้องการของประชาชนได้อย่างโดดเด่นและเกิดผลลัพธ์ที่ชัดเจน อันเป็นความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดทุกคนอีกด้วย นอกจากนี้ในปีงบประมาณ 2561 เมื่อวันที่ 9 สิงหาคม พ.ศ. 2561 เงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดได้รับรางวัลเงินทุนหมุนเวียนดีเด่น ประจำปี 2561 ด้านการพัฒนาดีเด่น เป็นรางวัลสำหรับทุนหมุนเวียน ที่มีการพัฒนาปรับปรุงประสิทธิภาพและประสิทธิผลของการดำเนินงานตามเป้าหมาย หรือมาตรฐานที่กำหนดไว้ให้ดียิ่งขึ้นอย่างต่อเนื่อง เป็นอีกหนึ่งความภาคภูมิใจสูงสุดของชาวเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดด้วยเช่นกัน
กลุ่มเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดมีรูปแบบการบริหารจัดการในลักษณะทุนหมุนเวียนโดยคณะกรรมการบริหารเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด (Narcotics Revolving Fund Board) ภายใต้กฎหมาย 5 ฉบับ ประกอบด้วย
1. พ.ร.บ. การบริหารทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2558
2. ระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยการขอจัดตั้ง การดำเนินงาน และการประเมินผลการดำเนินงานทุนหมุนเวียน พ.ศ. 2557
3. ระเบียบกระทรวงสาธารณสุขว่าด้วยเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติด พ.ศ. 2517
4. ระเบียบสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาว่าด้วยการขายวัตถุเสพติด พ.ศ. 2567
5. ข้อบังคับเงินทุนหมุนเวียนยาเสพติดว่าด้วยการบริหารงานบุคคล พ.ศ. 2565